มะลิ ชื่อสามัญ Arabian jasmine, Seented Star Jusmine, Jusmine, Kampopot จัดอยู่ในวงศ์ OLEACEAE มะลิ ยังมีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ อีกว่า มะลิขี้ไก่ (เชียงใหม่), มะลิหลวง (แม่ฮ่องสอน) มะลิป้อม (ภาคเหนือ), มะลิซ้อน มะลิลา (ภาคกลาง),มะลิ มะลิลา มะลิซ้อน (ทั่วไป), เตียมูน (ละว้า-เชียงใหม่), ข้าวแตก (เงี้ยว-แม่งสอน), บักหลี่ฮวย เซียวหน่ำเคี้ยง (จีน), หม้อลี่ฮวา (จีนกลาง) เป็นต้น “ลามะลิลา ขึ้นต้นเป็นมะลิซ้อน พอแตกใบอ่อนเป็นมะลิลา…” หลายๆ คนคงจะคุ้นเคยกับเพลงพื้นบ้านเพลงนี้ เพราะในสมัยเด็กๆ เราคงเคยเล่นการละเล่นโบราณนี้พร้อมกับร้องเพลงนี้ตามไปด้วย แต่ต่อมาถูกนำไปใช้ในความหมายของอะไรก็ตามที่เดิมดูดี แต่พอเวลาผ่านไป สิ่งที่ดูดีนั้นก็เริ่มเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไป…
สรรพคุณของมะลิ
- ดอกมะลิมีรสหอมเย็น มีสรรพคุณบำรุงหัวใจ ทำให้ชื่นใจ จิตใจชุมชื่น แก้อาการอ่อนเพลีย ชูกำลัง (ดอก)
- ชาวโอรังอัสลี ในรัฐเประ ประเทศมาเลเซีย จะใช้รากนำไปต้ม แล้วดื่มน้ำกินเป็นยาแก้เบาหวาน (ราก)
- หากมีอาการนอนไม่หลับ ให้ใช้รากแห้งประมาณ 1-1.5 กรัม นำมาฝนกับน้ำรับประทาน (ราก)
- ดอกสดนำมาตำให้ละเอียดใช้พอกขมับ จะช่วยแก้อาการปวดศีรษะได้ (ดอก) หรือจะใช้รากสดประมาณ 1-1.5 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ปวดหัวก็ได้ (ราก)
- ช่วยแก้เจ็บตา (ดอก)
- รากสดใช้ทำเป็นยาล้างตาแก้เยื่อตาอักเสบ (ราก) ใบและรากใช้ทำเป็นยาหยอดตา (ใบ,ราก) บ้างว่าใช้ดอกมะลิสดที่ล้างน้ำสะอาด นำมาต้มกับน้ำจนเดือนสักครู่ แล้วนำน้ำที่ได้มาใช้ล้างตาแก้ตาแดง เยื่อตาขาวอักเสบ (ดอก)
- ช่วยแก้อาการเจ็บหู (ดอกและใบ)
- ช่วยแก้อาการปวดฟัน ด้วยการใช้รากสดนำมาทุบให้แหลกคั่วกับเหล้าจนร้อน ใช้พอกบริเวณที่ปวด (ราก) หากปวดฟันผุ ให้ใช้รากมะลิตากแห้งยำมาบดให้เป็นผง ผสมกับไข่แดงที่ต้มสุกแล้วจนได้ยาที่เหนียวข้น ใช้ใส่ในรูฟันผุ (ราก)
- ดอกและใบมีรสเผ็ดชุ่ม เป็นยาเย็น ช่วยดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ ใช้เป็นยาแก้ร้อนในกระหายน้ำ ขับเหงื่อขับความชื้น แก้ไข้หวัดแดด (ดอกและใบ) รากใช้ฝนกับน้ำเป็นยาแก้ร้อนใน (ราก)
- ใช้ใบสดประมาณ 3-6 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ไข้ (ใบ)
- ตำรับยาแก้หวัดแดด มีไข้ ให้ใช้ดอกมะลิแห้ง 3 กรัม, ใบชาเขียว 3 กรัม, เมล็ดเฉาก๊วย 9 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำกิน (ดอก)
- ดอกสดนำมาตำใส่พิมเสน ใช้สุมหัวเด็กแก้ซาง แก้หวัด แก้ตัวร้อน (ดอก)
- ช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน ด้วยการใช้รากสดประมาณ 1-1.5 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน (ราก)
- ดอกแก่ใช้เข้ายาหอมเป็นยาแก้หืด (ดอก)
- ช่วยแก้หอบหืด หลอดลมอักเสบ ด้วยการใช้รากสด 1-1.5 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน (ราก)
- รากใช้เป็นยาแก้โรคเกี่ยวกับทรวงอก (ราก)
- ดอกสดนำมาตำให้ละเอียดใช้พอกหรือเช็ดบริเวณเต้านมเพื่อให้หยุดการหลั่งของน้ำนมได้ (ดอก)
- ใบสดประมาณ 3-6 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องอืดแน่น (ใบ) หรือจะใช้ดอกมะลิแห้ง 3 กรัม, ใบชาเขียว 3 กรัม, เมล็ดเฉาก๊วย 9 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ท้องเสีย (ดอก)
- ช่วยแก้อาการเสียดท้อง (ราก)
- ใช้ดอกสดหรือดอกแห้งประมาณ 1.5-3 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้โรคบิด แก้อาการปวดท้อง (ดอก, ดอกและใบ)
- ชาวโอรังอัสลี ในรัฐเประ ประเทศมาเลเซีย จะนำใบอ่อนใสแช่ในน้ำเย็น ใช้ดื่มกินแก้นิ่วในถุงน้ำดี (ใบ)
- ช่วยบำรุงครรภ์รักษา (ดอก)
- ช่วยขับประจำเดือนของสตรี (ราก)
- ดอกสดนำมาตำใช้เป็นยาทารักษาแผลเรื้อรัง ทาฝีหนอง ผิวหนังผื่นคัน เยื่อตาอักเสบ และแก้ปวดหูชั้นกลาง (ดอก) ช่วยแก้ฝีหนอง (ดอกและใบ)
- ใบสดนำมาตำใช้เป็นยาแก้โรคผิวหนัง แผลโรคผิวหนังเรื้อรัง แก้ฟกช้ำ และบาดแผล (ใบ) หรือใช้ใบสดนำมาตำให้ละเอียดผสมกับน้ำมันมะพร้าวใหม่ๆ นำไปลนไฟ ใช้ทารักษาแผล ฝีพุพอง (ใบ)
- รากมีรสเผ็ดขม เป็นยาเย็น มีพิษเล็กน้อย ใช้เป็นยาชา ยาแก้ปวด ให้ใช้รากสดประมาณ 1-1.5 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ปวด (ราก)
- ใช้แก้กระดูกร้าว ฟกช้ำ ให้ใช้รากแห้ง 1.5 กรัม นำมาฝนกับเหล้ากิน (ราก) หรือจะใช้รากสดตำพอกแก้ฟกช้ำ เคล็ดขัดยอกเนื่องจากการหกล้ม (ราก)
- ใบมีสรรพคุณช่วยขับน้ำนมของสตรี (ใบ)
- ตำรายาไทยจะใช้ดอกมะลิแห้งปรุงเป็นยาหอม โดยจัดให้ดอกมะลิอยู่ในพิกัดเกสรทั้ง 5, พิกัดเกสรทั้ง 7, พิกัดเกสรทั้ง 9 เป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณแก้ไข้ ช่วยทำให้จิตใจชุ่มชื่น (ดอก)
- นอกจากนี้ยังมีการนำดอกมะลิผสมเข้ายาหอมที่มีสรรพคุณบำรุงหัวใจ ทำให้จิตใจชุ่มชื่น แก้ลมวิงเวียน เช่น ในตำรับยาหอมเทพจิต ยาหอมทิพโอสถ ยาหอมนวโกฐ และยาหอมอินทจักร์ ซึ่งมีส่วนประกอบหลักเป็นดอกมะลิ และยังใช้เป็นส่วนผสมในตำรับยาแก้ไข้มิรู้จักสติสมปฤดี ยาประสะจันทน์แดง ยามหานิลแท่งทอง เป็นต้น (ดอก)
ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรมะลิ
- รากมะลิหากกินมากๆ อาจทำให้สลบได้
- ดอกมะลิที่นำมาใช้แต่งกลิ่นชา ไม่ควรนำมารับประทานเป็นประจำ เพราะอาจทำให้ความจำเสื่อมหรือเป็นคนลืมง่าย
- ดอกมะลิเป็นยารสหอมเย็น อย่าใช้มากเกินไป เพราะจะไปแสลงกับโรคลมจุกเสียดแน่น
- การดื่มน้ำลอยดอกมะลิเป็นสิ่งที่ควรระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะในปัจจุบันการปลูกและการดูแลรักษามะลิก็เพื่อการค้าเป็นส่วนใหญ่ จึงอาจมีการใช้สารเคมีชนิดต่างๆ เป็นจำนวนมาก
ประโยชน์ของมะลิ
- ดอกมะลิ เป็นดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมและยังมีสีขาวบริสุทธิ์ คนไทยนิยมยกย่องดอกมะลิให้เป็นดอกไม้ของวันแม่แห่งชาติ และดอกมะลิลายังเป็นดอกไม้ประจำชาติของประเทศฟิลิปปินส์อีกด้วย
- นิยมเก็บดอกเพื่อนำมาร้อยเป็นพวงมาลัย หรือใช้ทำดอกไม้แห้ง ใช้ในอุตสาหกรรมน้ำมันหอมระเหย ใช้แต่งกลิ่นใบชา ใช้อบขนมต่างๆ
- ในทางสุคนธบำบัด (Aromatherapy) หรือการบำบัดโดยการใช้กลิ่นหอม จะใช้น้ำมันหอมระเหยของดอกมะลิ ในการกระตุ้นระบบประสาทสำหรับผู้ที่มีภาวะอ่อนล้าทางจิตใจ เฉื่อยชา อ่อนเพลีย ง่วง ช่วยปรับอารมณ์และสภาพสมดุลของจิตใจให้ดีขึ้น บรรเทาอาการปวดศีรษะ ความเครียด ความกลัว และช่วยบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ (ดอก)
- ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี ส่งกลิ่นหอมตลอดทั้งวัน ยิ่งในช่วงที่มีอุณหภูมิต่ำจะยิ่งส่งกลิ่นแรง เป็นพันธุ์ไม้หอมที่ปลูกได้ง่าย ปลูกได้ดีทั้งในพื้นที่แคบหรือในกระถาง เจริญเติบโตเร็ว ไม่ค่อยมีโรคและแมลงมารบกวน และสามารถควบคุมการออกดอกได้โดยการควบคุมการให้น้ำและการใส่ปุ๋ยอย่างเหมาะสม
- ในด้านของความเชื่อ คนไทยเชื่อว่าการปลูกต้นมะลิไว้เป็นไม้ประจำบ้าน จะทำให้มีความสงบสุข ร่มเย็น เป็นที่ประทับใจแก่ผู้คนรอบข้าง ช่วยเกื้อหนุนให้เกิดความกตัญญูของผู้เป็นลูกที่มีต่อแม่ และเพื่อความสิริมงคลแก่บ้านและผู้อยู่อาศัย ควรปลูกต้นมะลิไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และให้ปลูกในวันพุธเพื่อเอาคุณ โดยผู้ปลูกควรเป็นสตรีที่สูงอายุ เพราะเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบสูง และยังเป็นผู้ที่ประกอบคุณงามความดีเป็นที่รับถือแก่บุคคลทั่วไป โดยต้นมะลิที่นิยมปลูกไว้ในบ้านเพื่อความเป็นมงคลมีอยู่ 5 ชนิดด้วยกัน คือ มะลิซ้อน มะละฉัตร มะลิพวง มะลิวัลย์ และพุทธชาด นอกจากนี้ต้นมะลิยังเป็นต้นไม้ประจำวันเกิดของผู้เกิดวันจันทร์อีกด้วย ซึ่งหมายถึงความนุ่มนวลอ่อนโยน และเรียบร้อย
Credit : frynn.com