เพราะกองทัพเดินหน้าด้วยท้อง เราจึงต้องให้ความใส่ใจกับปากท้องของเรา อิ่มท้องแต่ต้องดีต่อสุขภาพด้วย เรื่องของสารเคมีวัตถุเจือปนในอาหารที่มีอยู่ในท้องตลาดนั้น เป็นเรื่องที่เราต้องระวัง
สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีแฟนส่งคำถามมาว่า เวลารับประทานถั่วงอก ควรรับประทานสุกหรือดิบมากกว่ากัน ผู้เขียนคิดว่าผู้ที่ถามมานั้น น่าจะมีความกังวลในเรื่อง สารฟอกขาวในถั่วงอก ถ้าให้ตอบโดยไม่ทราบถึงแหล่งที่มาของถั่วงอก ขอแนะนำให้ลวกหรือผ่านความร้อนก่อน ซึ่งจะลดความเสี่ยงจากสารเคมีอันตรายในกรณีที่มีได้
ปกติแล้วจะมีสารเคมีที่สามารถใช้ในอาหารได้ตามปริมาณที่กำหนด เพื่อรักษาหรือปรับปรุงคุณภาพของอาหาร แต่สารเคมีบางชนิดนั้นไม่สามารถใส่ได้โดยเด็ดขาด ไม่ว่าจะในปริมาณเท่าไรก็ตาม เนื่องจากสามารถก่อให้เกิดอันตรายกับผู้บริโภคได้
สำหรับสารฟอกขาวที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ก็คือ สารเคมีในกลุ่มซัลไฟต์คนขายถั่วงอกบางรายจะใช้ โซเดียมซัลไฟต์ มาผสมน้ำแช่ถั่วงอกเพื่อให้ถั่วงอกขาว อวบน่ารับประทาน แต่ก็มีคนขายบางรายที่เลือกจะใช้โซเดียม ไฮโดรซัลไฟต์ ซึ่งเป็นสารฟอกขาวที่ไม่อนุญาตให้ใช้ในอาหาร แต่มีประสิทธิภาพในการฟอกขาวได้สูงกว่าประเภทแรกหลายเท่า แต่สารเหล่านี้มีผลข้างเคียง ทำให้ผู้บริโภคอาจเกิดอาการท้องเสีย หายใจขัด อาเจียน หรือสามารถเกิดอันตรายได้ ถึงแก่ชีวิต
เวลาที่เราเลือกซื้อหรือรับประทานถั่วงอก จึงควรเลือกที่ไม่ขาวมากจนเกินปกติ แต่ในขนาดเดียวกัน ก็ไม่ควรให้คล้ำหรือเน่าเสีย ในกรณีที่เรารับประทานถั่วงอกที่ไม่แน่ใจว่า มีสารโซเดียมไฮโดรซัลไฟต์หรือไม่ ก็ขอให้ปรุงโดยผ่านความร้อน ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดอันตรายต่อสุขภาพได้
ภัยจากอาหารเป็นสิ่งที่ไม่มีผู้ใดปรารถนา ผู้ขายเองก็ต้องมีจรรยาบรรณ ผู้ซื้อก็ต้องรู้จักที่จะซักถามและไม่สนับสนุนอาหารที่มีสารพิษ ในสัปดาห์หน้า เรามารื้อความรู้สมัยเด็กๆ ที่คุณครูสมัยประถมสอนให้เราเพาะถั่วงอก แล้วลองเพาะกันเองบ้างดีกว่า ขอให้สุขภาพที่ดีเป็นของทุกคนครับ
Credit : Thaihealth