
กะเม็งตัวผู้ ชื่อสามัญ Chinese Wedelia กะเม็งตัวผู้ ชื่อวิทยาศาสตร์ Wedelia chinensis จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน ( Asteraceae หรือ Compositae) เช่นเดียวกันกับกะเม็งตัวเมีย และกะเม็งตัวผู้ยังมีชื่อเรียกอื่นอีกคือ ฮ่อมเกี่ยวคำ (เชียงใหม่), กะเม็งดอกเหลือง (คนไทย), อึ้งปั้วกีเชา (จีน)
ลักษณะทั่วไป
- ต้น : เป็นพรรณไม้ล้มลุก ที่มีลำต้นเลื้อยและชูขึ้น ลำต้นสูงประมาณ 4-20 นิ้ว
- ใบ : ใบมีลักษณะเป็นรูปหอกแกมขอบขนาน ปลายใบแหลมเรียว โคนใบสอบแคบ ริมขอบใบเป็นหยักตื้น หลังใบและใต้ท้องใบ มีขนขึ้นประปราย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.5-1 นิ้ว ยาวประมาณ 0.5-3 นิ้ว ก้านใบสั้น
- ดอก : ดอกออกเป็นดอกเดี่ยว บริเวณปลายยอด ลักษณะของดอกเป็นดอกขนาดเล็ก กลีบดอกวงนอกเป็นรูปรางน้ำ ปลายกลีบดอกเป็นหยัก 3 หยัก กลีบดอกยาว 8-11 มม. กลีบดอกวงในเป็นรูปท่อ ปลายกลีบดอกหยักเป็น 5 แฉก กลีบดอกยาว 4 มม. กลางดอกมีเกสรตัวผู้โผล่พ้นจากกลีบดอก และเกสรตัวเมียจะแยกออกเป็นแฉกโค้ง ดอกเมื่อบานเต็มมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 ซม.
- ผล : ผลมีรูปลักษณะสอบแคบ ผิวของมันขรุขระไม่เรียบ มีขนาดยาวประมาร 4-5 มม. มีระยางค์เป็นรูปถ้วย ขนาดเล็ก
การขยายพันธุ์ : เป็นพรรณไม้ที่เจริญเติบโตได้ดีในดินที่ชื้นแฉะ ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด
ส่วนที่ใช้ได้ : ลำต้น ใบ
สรรพคุณ
- ลำต้น เอาลำต้นมาตำให้ละเอียดแล้วผสมกับข้าว ใช้พอกแก้ปวดบวม หรือนำเอาลำต้นที่ตากแห้งแล้วนำมาชงเป็นยาอาเจียนเป็นเลือด แก้โรคกระเพาะคราก หรือโรคกระเพาะอักเสบ และยังทำให้น้ำสะอาดได้ด้วย
- ใบ นำมาใช้เป็นยาบำรุง แก้ไอ แก้โรคผิวหนัง ปวดศีรษะ
Credit : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , http://www.samunpri.com/?p=1719