มะระขี้นก (มะระขนาดเล็กสีเขียวเข้ม มีผิวขรุขระ มีรสขม) ซึ่งคนไทยเราก็รู้จักกันดีเพราะเป็นอาหารอย่างหนึ่งที่นิยมใช้เป็นผักจิ้มน้ำพริก และพืชชนิดนี้สามารถใช้ลดน้ำตาลในกระแสเลือดได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของใบ ผล หรือเมล็ด
มะระขี้นกสามารถใช้ลดน้ำตาลในกระแสเลือดได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมะระขี้นกจะกระตุ้นการเปลี่ยนกลูโคสในกระแสเลือดให้เป็นไกลโคเจนที่ตับและยังกระตุ้นการหลั่งอินซูลินจากเบตาเซลล์ของตับอ่อน อีกทั้งยังกระตุ้นการสร้างเบตาเซลล์อีกด้วย ซึ่งการใช้มะระขี้นกก็สามารถใช้ได้หลายวิธีด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการคั้นน้ำ รับประทานสด หรือการดื่มในรูปของชามะระขี้นก แต่จากงานวิจัยของ B.A. Leatherdale ของ มหาวิทยาลัยแอสตัน พบว่าการคั้นน้ำเป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุด ส่วนวิธีที่มีประสิทธิภาพน้อยที่สุดคือการกินมะระขี้นกที่นำไปแตกแห้ง
นอกจากนี้ยังพบว่าในเมล็ดของมะระขี้นกมีสารชนิดหนึ่งซึ่งมีโมเลกุลคล้ายอินซูลิน และสารชนิดนี้ยังช่วยกระตุ้นการสร้างกรดไขมันในร่าง กาย ตลอดจนออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องการสลายไขมันอีกด้วย การใช้มะระขี้นกเพื่อลดน้ำตาลในกระแสเลือดนั้นสามารถใช้ได้ผลดีกับผู้ป่วยเบาหวานทั้ง 2 ชนิด แต่ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้พวกแตงเมลอน แคนตาลูป สำหรับหญิงตั้งครรภ์หรือผู้ป่วยโรคตับแล้วการใช้มะระขึ้นกจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของแพทย์
มะระขี้นกสามารถออกฤทธิ์ในการลดน้ำตาลได้ภายใน 30-60 นาทีหลังกิน(ซึ่งใกล้เคียงกับการออกฤทธิ์ของZinc crystalline insulin) และจะออกฤทธิ์สูงสุดหลังจากกินไปแล้ว4-12 ชั่วโมง (ฮอร์โมนอินซูลินออกฤทธิ์สูงสุดภายใน 2-3ชั่วโมง) นอกจากมะระขี้นกแล้วยังมีสมุนไพรชนิดอื่นที่สามารถลดน้ำตาลในกระแสเลือดได้ อาทิเช่น อบเชย ว่านหางจระเข้ แต่มะระขี้นกจะออกฤทธิ์ในการลดน้ำตาลได้เร็วกว่าและนานกว่า
นอกจากนี้มะระขี้นกยังช่วยป้องการตีบและหนาตัวของผนังหลอดเลือดแดง ช่วยลดระดับคลอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไลด์ในตับได้อย่างมีประสิทธิภาพ (มะระขี้นกสามารถแก้ไขภาวะคลอเลสเตอรอล ฟอสโฟไลปิดและไตรกลีเซอไรด์ที่เพิ่มสูงขึ้นอันเป็นผลข้างเคียงจากการรับประทานยาลดน้ำตาลติดต่อกันเป็นระยะเวลานานให้เข้าสู่ระดับปกติได้ เมื่อรับประทานมะระขี้นกติดต่อกัน 10 สัปดาห์)
พบว่าการดื่มน้ำคั้นมะระขี้นก (ใช้มะระขี้นก 1-2 ผลคั้นร่วมกับผักผลไม้ชนิดอื่น เพื่อลดความขม แต่ทั้งควรเป็นผลไม้ที่มีน้ำตาลไม่มากนัก เช่น แอปเปิ้ลเขียวจะดีกว่าแอปเปิ้ลแดง วันละ 1 แก้วในตอนเช้าก่อนรับประทานอาหาร และถ้าเป็นไปได้อีก 1 แก้วในช่วงเย็น) ร่วมกับการดื่มชามะระขี้นกหลังมื้ออาหารทุกมื้อ (หรืออาจใช้เป็นน้ำต้มใบชะพลูแทนชามะระขี้นก) สามารถลดระดับน้ำตาลได้ดี แต่ทั้งนี้ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารร่วมด้วย
หมายเหตุ : มะระขี้นกจะกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ ดังนั้นการใช้มะระขี้นกอาจทำให้ถ่ายท้องได้ ซึ่งถ้ามีอาการถ่ายท้องมากเกินไป ให้ปรับลดปริมาณของมะระขี้นกที่ใช้ให้น้อยลงได้
Credit : blog.siamherbal.com