ภายหลังจากมีแนวคิดให้เปิดขายเนื้อปลาปักเป้าเสรี ก็มีหลายภาคส่วนออกมาแสดงความกังวลในเรื่องพิษของ
ปลาปักเป้าที่รู้กันดีอยู่ แล้วว่าหากกินเนื้อปลาที่มีพิษเข้าไปก็ถึงตายได้เลยทีเดียว แต่บางคนอาจจะยังไม่รู้ว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนดให้ปลาปักเป้าทุกชนิดและอาหารที่มีเนื้อปลาปักเป้ามาเป็นส่วนผสมเป็น อาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 264) พ.ศ.2545 หากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 2 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท
คราวนี้มารู้จักกับปลาปักเป้าให้มากขึ้นอีกสักหน่อย ปลาปักเป้านั้นมีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ ปลาปักเป้าน้ำจืด และปลาปักเป้าทะเล ซึ่งทั้งสองชนิดนี้ต่างก็มีพิษเช่นกัน เพียงแต่เป็นพิษคนละตัว
สำหรับพิษของปลาปักเป้านั้นจะพบในส่วนของอวัยวะภายใน ทั้งตับและลำไส้ หรือแม้แต่หนังของปลา ส่วนบริเวณที่มีพิษมากที่สุดก็คือไข่ปลาปักเป้า โดยเฉพาะในช่วงฤดูปลาวางไข่นั้นพิษจะมีมากที่สุด ส่วนในเนื้อปลาปักเป้าจะมีพิษน้อยหรือไม่มีเลย การที่เนื้อปลาปักเป้ามีพิษนั้น เกิดมากจากการแล่เนื้อปลา หรือการทำปลาด้วยวิธีการที่ไม่ระมัดระวังและไม่ถูกต้อง และพิษจากปลาปักเป้านั้นทนต่อความร้อนสูง และความเค็มจากการแปรรูปเป็นปลาร้านั้นก็ไม่สามารถทำลายพิษได้
อย. ได้มีการออกมาเตือนไม่ให้นำปลาปักเป้ามาบริโภค โดยสามารถสังเกตอาการที่ได้รับพิษจากปลาปักเป้า คือ มีอาการชาที่ลิ้น ปลายนิ้วมือ คลื่นไส้อาเจียนในขั้นแรกจนถึงขั้นรุนแรง อาจเป็นอัมพาต และเสียชีวิตได้ ฉะนั้นจึงไม่ควรกินปลาปักเป้าทั้งน้ำเค็มและน้ำจืด เนื่องจากในประเทศไทยยังไม่มีองค์ความรู้ในเรื่องการจำแนกสายพันธุ์ และไม่มีการอบรมวิธีการแล่อย่างถูกวิธี
เพื่อการบริโภคที่ปลอดภัย หากต้องการซื้อเนื้อปลาให้เลือกซื้อเนื้อปลาที่คุ้นเคย โดยมีวิธีสังเกตง่ายๆ เบื้องต้น หากเป็นเนื้อปลาแล่ที่เป็นปลาปักเป้า ลักษณะของเนื้อจะนูนคล้ายสันในไก่ ไม่ควรเสี่ยงซื้อมาบริโภค กรณีเป็นผลิตภัณฑ์เนื้อปลา เช่น ลูกชิ้น ปลาเส้น ให้พิจารณาว่าอยู่ในภาชนะบรรจุที่มีฉลากระบุแหล่งผลิตชัดเจน มีเครื่องหมาย อย.
Credit : http://www.manager.co.th