หญ้าปากควาย ยังมีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ อีก เช่น หญ้าปากกล้วย (สิงห์บุรี), หญ้าปากควาย(ภาคกลาง),
หญ้าปากคอก, หญ้าสายน้ำผึ้ง, หญ้าตีนตุ๊กแก เป็นต้น โดยจัดอยู่ในวงศ์หญ้า (Gramineae หรือ Poaceae) เช่นเดียวกันกับ หญ้าคา หญ้ากุศะ ตองกง และอ้อย โดยมีถิ่นกำเนิดในประเทศเม็กซิโก และมีเขตการกระจายพันธุ์ในเขตร้อนและเขตอบอุ่นในเอเชีย และถูกนำเข้าไปปลูกในอเมริกาและแอฟริกา ซึ่งในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาค โดยสามารถพบได้ตามพื้นที่ที่ถูกรบกวน ตามพื้นที่เปิดโล่ง ตามริมถนนหนทาง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นดินทราย ที่ระดับความสูง 50-650 เมตร
ลักษณะของหญ้าปากควาย
- ต้นหญ้าปากควาย จัดเป็นพืชล้มลุกจำพวกหญ้ามีอายุปีเดียว ลำต้นเลื้อยทอดนอนไปตามพื้น แตกลำและรากที่ข้อแล้วตั้งตรงลำต้นกลมเป็นปล้องกลวง มีความกว้างประมาณ 5 มิลลิเมตร และมีความสูงของต้นประมาณ 15 - 50 เซนติเมตร ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการปักชำกิ่ง เจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินชื้นในข้าวไร่จะขึ้นพร้อมข้าว
- ใบหญ้าปากควาย ใบเป็นรูปแถบ มีความยาวประมาณ 9.5-32 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบตัด ส่วนขอบใบมีขนยาวห่าง ลักษณะของแผ่นใบเกลี้ยง มีกาบใบสั้นหรือยาวกว่าปล้อง มีความยาวประมาณ 3.2-5.5 เซนติเมตร เกลี้ยง ขอบเกลี้ยง ส่วนลิ้นใบเป็นเยื่อ มีความยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ส่วนปลายมีและมีขน
- ดอกหญ้าปากควาย ออกดอกเป็นช่อแบบกระจะ ช่อดอกแยกแขนงคล้ายรูปนิ้วมือ ออกที่ปลายกิ่ง แกนช่อเป็นเหลี่ยม ช่อดอกย่อยออกเดี่ยวๆ ติดที่แกนแขนงช่อดอกด้านเดียว แบบเรียงสลับ ไร้ก้าน ร่วงหรือกาบ โดยช่อดอกย่อยมีลักษณะเป็นรูปไข่แบนด้านข้าง กาบช่อย่อยเนื้อมีลักษณะบางคล้ายกระดาษ กาบล่างเป็นรูปใบหอก ปลายแหลม มีขนบริเวณสันกลางกาบ ส่วนกาบบนมีลักษณะเป็นรูปไข่กลับ ปลายเรียวแหลมลักษณะคล้ายรยางค์ มีขนที่โคนและสันของกลางกาบ ดอกย่อย 3 ดอก
- ผลหญ้าปากควาย ผลขนาดเล็ก มีลักษณะคล้ายรูปไตหรือกลม สีน้ำตาล ยาวประมาณ 1.1-1.2 มิลลิเมตร ผิวเป็นคลื่นสีน้ำตาลเข้ม ในผลหนึ่งๆ จะมีเมล็ดอยู่เป็นจำนวนมาก โดยจะออกดอกและติดผลในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม บ้างก็ว่าสามารถออกดอกได้ตลอดปี
สำหรับวิธีกำจัดหญ้าปากควาย สามารถทำได้ 2 วิธี ได้แก่ การถาก ถอน ตัดให้สั้นเพื่อไม่ให้ออกดอก หรือการขุดทิ้ง ส่วนอีกวิธีก็คือการใช้สารเคมีในการกำจัด ซึ่งได้แก่ กรัมม็อกโซน โกลด์ (พาราควอต ไดคลอไรด์),
ทัชดาวน์ (ไกลโฟเซต, ไตรมีเซียมซอลต์) หรือ วันไซด์ (ซุปเปอร์)
สรรพคุณของหญ้าปากควาย
- ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่ม ช่วยทำให้เจริญธาตุไฟ (ทั้งต้น)
- ช่วยดับพิษร้อนในร่างกาย (ทั้งต้นใช้ต้มกับน้ำดื่ม)
- ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาช่วยดับพิษกาฬ แก้ไข้หวัดทุชนิด แก้พิษไข้ แก้ไข้ตรีโทษ และไข้หัวทุกชนิด (ทั้งต้นใช้ต้มกับน้ำดื่ม)
- ช่วยในการย่อยอาหาร (ทั้งต้น)
- ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ (ทั้งต้น)
- หญ้าปากควาย สรรพคุณทางยาแก้พิษฝี (ทั้งต้น)
- ทั้งต้นนำมาตำผสมกับเหล้าใช้พอกหรือทาแก้อาการปวด บวม และอาการอักเสบ (ทั้งต้น)
ประโยชน์ของหญ้าปากควาย
- นอกจากจะใช้เป็นสมุนไพรแล้ว ยังใช้เป็นอาหารสัตว์สำหรับโค กระบือ โดยเฉพาะม้าได้ด้วย จะตัดให้กินหรือปล่อยให้สัตว์แทะเล็ม
- คุณค่าทางโภชนาการของหญ้าปากควาย ที่มีอายุราว 45 วัน ประกอบไปด้วย โปรตีน 7.4-8.6%, ธาตุแคลเซียม 0.50-0.53%, ธาตุโพแทสเซียม 1.41-1.60%, ADF 27.6-42.2%, NDF 55.1-75.6%, DMD 55.2-59.1%, ลิกนิน 4.2%
Credit : Greenerald.com