สารกันบูดใน "ซอสพริก"

สารกันบูดใน "ซอสพริก"

 

 

 

 

       “ซอสพริก” หนึ่งในเครื่องปรุงรสอาหาร ที่หลายคนชื่นชอบรับประทานคู่กับไก่ทอด หรือสเต๊ก แบบคนตะวันตก เฝอแบบคนเวียดนาม หรือกับก๋วยเตี๋ยวคั่วไก่แบบคนไทย เป็นเครื่องปรุงสำหรับเพิ่มรสชาติอาหารให้อร่อยถูกปาก  ซอสพริกเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากพริก แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ซอสพริกล้วน มีส่วนผสมเฉพาะพริกกับส่วนประกอบอื่น เช่น น้ำตาล น้ำส้ม และซอสพริกผสมมะเขือเทศ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมะเขือเทศผสมอยู่ด้วย

 

       การผลิตซอสพริกตามแบบชาวบ้านไม่นิยมเพิ่มเติมสิ่งต่างๆ นอกเหนือจากวัตถุดิบขั้นต้น เช่น พริก กระเทียม น้ำส้มสายชู เกลือ และน้ำตาลทราย นำมาปั่นแล้วหมักทิ้งไว้ จะได้ซอสพริกเก็บไว้กินตามครัวเรือน ถ้าเป็นในระดับอุตสาหกรรม จะต้องมีการผลิตคราวละมากๆ จึงมีความจำเป็นจะต้องเพิ่มเติมสารถนอมอาหาร หรือสารกันบูด (กรดเบนโซอิก) เพื่อป้องกันการเปลี่ยนสภาพของซอสพริก ในระหว่างการขนส่งหรือระหว่างการจัดจำหน่าย

 

       สารกันบูด เป็นสารที่สามารถเติมในอาหารได้ในปริมาณที่จำกัด ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมซอสพริก (มอก.242-2529) กำหนดให้พบการปนเปื้อนได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ถ้าพบเกินกว่านั้นร่างกายจะได้รับอันตราย โดยมีรายงานการศึกษาถึงผลของสารชนิดนี้ ต่อการเพิ่มอาการสมาธิสั้นในเด็กด้วย และหากได้รับเกิน 6 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม อาจทำให้เสียชีวิตได้

 

       เพื่อเตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัยอาหารต่อการเป็นครัวของโลก สถาบันอาหาร จึงทำการสุ่มเก็บตัวอย่างซอสพริก จำนวน 5 ตัวอย่าง ในเขตกรุงเทพฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของสารกันบูดในซอสพริก ปรากฏว่าพบสารกันบูด (กรดเบนโซอิก) ในทุกตัวอย่าง แต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน

 

       รู้อย่างนี้อย่าเพิ่งนอนใจ ควรระมัดระวังอาหารชนิดอื่นที่อาจมีการปนเปื้อนของสารชนิดนี้อยู่ด้วย เพราะใน 1 วัน คุณไม่ได้กินแค่ “ซอสพริก”....!!!

 

 

 

 

Credit : Thaihealth

 1507
ผู้เข้าชม

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์