
สารเร่งเนื้อแดง (สารกลุ่มเบต้าอะโกนิสท์)
เป็นเคมีภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์เป็นยารักษาโรคหอบหืดในคน แต่ผู้เลี้ยงสุกรได้รับคำแนะนำหรือชักจูงใจในทางที่ผิด โดยนำสารกลุ่มนี้มาผสมในอาหารสัตว์ น้ำ ดื่ม และอื่นๆ สำหรับการเลี้ยงสุกรเพื่อลดไขมันหรือเพิ่มปริมาณเนื้อแดงในซากสุกร ซึ่งการกระทำเช่นนี้ เป็นการใช้เคมีภัณฑ์ที่ผิดวัตถุประสงค์ และไม่ถูกต้องตามคุณสมบัติของสารเคมีภัณฑ์ชนิดนี้นอกจากนี้ยังเป็นการทรมาน สัตว์ที่ขาดเหตุผลและความจำเป็น
เนื่องจากสารกลุ่มนี้มีผลต่อการทำงานของระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ หัวใจ กล้ามเนื้อเรียบของหลอดเลือด หลอดลม กระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น ถ้าสารในกลุ่มนี้มีการตกค้างในเนื้อสุกรก็จะมีผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยเฉพาะ ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคต่อมไทรอยด์ เป็นต้น ซึ่งประเทศไทย และต่างประเทศได้ห้ามใช้สารกลุ่มนี้ในการผลิตอาหารสัตว์โดยเด็ดขาด ซึ่งมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2525 มาตรา 6(5) , 57
สารเร่งเนื้อแดง(ซาลบูทามอล)
ซาลบูทามอล เป็นสารในกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ ( B-Agonist) เป็นตัวยาบรรเทาโรคหอบหืด ช่วยในการขยายหลอดลม และช่วยให้กล้ามเนื้อหลอดลมคลายตัว พบว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูมีการนำสารชนิดนี้ไปผสมอาหารสำหรับเลี้ยงหมู เพื่อให้หมูมีปริมาณเนื้อแดงเพิ่มมากขึ้น เพราะจะทำให้ได้ราคาดีกว่าหมูที่มีชั้นไขมันหนาๆ
อันตรายต่อผู้บริโภค ทำให้มีอาการมือสั่น กล้ามเนื้อกระตุก ปวดศีรษะ หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ กระวนกระวาย วิงเวียนศีรษะ บางรายมีอาการเป็นลมคลื่นไส้อาเจียน มีอาการทางจิตประสาท และเป็นอันตรายมากสำหรับหญิงมีครรภ์ ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และโรคไฮเปอร์ไธรอยด์
วิธีหลีกเลี่ยงอันตรายจากสารเร่งเนื้อแดง เลือกเนื้อหมูที่มีมันหนาบริเวณสันหลังและเลือกเนื้อหมูที่เมื่ออยู่ในลักษณะตัดขวางจะมีมันแทรกระหว่ากล้ามเนื้อเห็นได้ชัด
วิธีการเลือกซื้อเนื้อหมูที่ไม่ใช้สารเร่งเนื้อแดง ให้สังเกตดูจากสีของเนื้อหมูต้องไม่มีสีแดงผิดปกติ เมื่อกดดูเนื้อจะนุ่มไม่กระด้าง หรือสังเกตตรงส่วนที่เป็นหมูสามชั้น หากพบว่า มีส่วนเนื้อมากผิดปกติ ควรหลีกเลี่ยง เพราะอาจมีสารเร่งเนื้อแดงปนเปื้อน เพราะหมูที่เลี้ยงตามธรรมชาติ จะมีสัดส่วนของมันหมู 1 ส่วน ต่อเนื้อแดง 2 ส่วน
Credit : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา http://usmarket.igetweb.com/index.php