วิตามินเค เป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน นอกจากร่างกายจะได้รับจากอาหารแล้ว ยังสามารถผลิตขึ้นเองได้ในลำไส้เล็ก การปรุงอาหารโดยปกติทั่วไป จะสูญเสียวิตามินเคเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ประโยชน์ต่อร่างกาย
- ช่วยให้เลือดแข็งตัวเมื่อมีบาดแผลเลือดออก
- ช่วยให้ตับทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
- ทำงานร่วมกับวิตามินดีในการควบคุมระดับแคลเซียมในร่างกาย
- ช่วยเสริมสร้างเซลล์กระดูกและเนื้อเยื่อไต
ปริมาณที่แนะนำ
- เนื่องจากการสังเคราะห์วิตามินเค ในลำไส้ของแต่ละบุคคลไม่เท่ากัน อาหารที่บริโภคก็ไม่เหมือนกัน จึงยากที่จะกำหนดปริมาณที่แนะนำ จากการศึกษาพบว่าประมาณร้อยละ 50 ของวิตามินเคได้มาจากการสังเคราะห์ของแบคทีเรียในลำไส้ และหากรับประทานอาหารอย่างสมดุล ร่างกายก็จะได้รับวิตามินเคอย่างเพียงพออยู่แล้ว หากจำเป็นต้องรับประทานวิตามินเคเสริม ควรใช้ตามที่แพทย์สั่งเท่านั้น มิฉะนั้น อาจเกิดอันตราย เช่น ปัญหาการจับตัวของเลือด
- ผู้ที่ต้องรับประทานยาที่ทำให้เลือดจาง ปริมาณวิตามินเคในอาหารอาจมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพของยา แพทย์อาจสั่งให้เลือกรับประทานอาหารเพื่อให้ยาทำงานได้ดีขึ้น
แหล่งที่พบ
- ผักกระเฉด กะหล่ำปลี บร็อคโคลี่ ผักกาดหอม มะเขือเทศ หน่อไม้ฝรั่ง ผักโขม หัวแครอท สาหร่ายทะเล น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันตับปลา ตับหมู นมวัว เนยแข็ง โยเกิร์ต ไข่แดง น้ำเหลืองอ้อย (Molasse) น้ำมันดอกคำฝอย และพืชผักที่มีใบสีเขียวอื่นๆ เป็นแหล่งสำคัญทั้งนั้น และทั้งนี้จะต้องไม่ลืมว่าแบคทีเรียในลำไส้เป็นตัวการสำคัญ
ผลของการขาดวิตามินเค
- เด็กแรกเกิดและเด็กที่คลอดก่อนกำหนดมีโอกาสขาดวิตามินเคได้ง่าย เพราะเด็กยังไม่สามารถย่อยและดูดซึมไขมันได้ดี และในลำไล้ยังไม่มีแบคทีเรียที่จะสร้างวิตามินเคได้ นอกจากนี้ในน้ำนมแม่ก็มีปริมาณไม่มากนัก เด็กจะมีอาการเลือดออกตามผิวหนัง ลำไส้ หรือสมอง อาการอื่นๆ ได้แก่ ซึม กระสับกระส่าย ร้องกวน ไม่ดูดนม อาเจียน ไม่ค่อยรู้สึกตัว ชัก หมดสติ กระหม่อมด้านหน้าโป่งตึง อัมพาตหรือเสียชีวิตได้ เพื่อป้องกันการขาดวิตามินเค แพทย์มักฉีดวิตามินเคให้กับทารกหลังคลอดแล้ว หรือฉีดวิตามินเคให้มารดาก่อนคลอด
- ในผู้ใหญ่มักไม่ขาดวิตามินเค ยกเว้นผู้ที่มีโรคเรื้อรังของระบบทางเดินอาหารบางชนิด โรคทางเดินน้ำดีอุดตัน โรคตับแข็ง และในคนที่ใช้ยาปฏิชีวนะเป็นเวลานาน จะมีผลในการทำลายแบคทีเรียที่สังเคราะห์วิตามินเคในลำไส้ นอกจากนี้คนที่ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด อาจเสี่ยงต่อการตกเลือดได้ง่าย
- ภาวะการขาดวิตามินเคจะทำให้เลือดไหลไม่หยุด หรือหยุดยากเวลามีบาดแผล มีเลือดกำเดาออก มีการตกเลือดหรือเลือดออกภายใน เช่น ในลำไส้เล็ก เลือดออกมากับปัสสาวะ เลือดออกที่ตา เลือดออกหลังผ่าตัด ถ้าเลือดออกมากอาจทำให้ช็อกถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้น ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัด และมีประวัติเลือดหยุดยาก แพทย์อาจให้วิตามินเคแก่คนไข้ก่อนผ่าตัด เพื่อช่วยให้เลือดหยุดได้ง่ายขึ้น
ผลของการได้รับมากไป
- ภาวะวิตามินเคเป็นพิษ คือ การได้รับวิตามินเคมากเกินไป อาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังและทางเดินหายใจ และยังทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตกในคนที่ขาดเอนไซม์ G6PD (glucose -6-phosphate dehydrogenase) ส่วนในหญิงตั้งครรภ์ ถ้าได้รับในปริมาณสูง จะทำให้เกิดโรคดีซ่านในเด็กแรกคลอดได้
สารหรืออาหารต้านฤทธิ์ ได้แก่ ยาปฏิชีวนะ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาแอสไพริน และมลพิษทางอากาศ เป็นต้น
Credit : คุณเอมอร คชเสนี รายการ สภาพสุข สุขภาพ, manager.co.th, tusv.awardspace.com,
goodhealth.co.th, manager.co.th