Slow Living » “ชีวิตแช่มช้า” ความสมบูรณ์ที่หล่นหาย

Slow Living » “ชีวิตแช่มช้า” ความสมบูรณ์ที่หล่นหาย

 

 

 

     นายแพทย์วิธาน ฐานะวุฑฒ์ ผู้เขียนบทความเรื่อง “เพราะอะไรถึงต้องช้า” ของสถาบันต้นกล้า ได้ทำให้ทราบความหมายของ Slow living อย่างลึกซึ้ง... “ปัจจุบันเราเป็นโรคความเร่งรีบ หรือ Hurry sickness syndrome บางคนรีบจะไปไม่ทันจนรู้สึกหายใจหอบ หัวใจเต้นเร็ว แขนขาหมดแรง ไม่ค่อยมีแรง ใจหวิว ๆ แล้วโรคต่าง ๆ ก็ตามมา ความเร็วไม่ใช่ไม่ดี แต่ปัจจุบันนี้เป็นความเร็วที่สับสน เราลืมมองประโยชน์ของความช้าบางอย่างไป อย่างในยุโรป หรืออเมริกาก็เริ่มเห็นความสำคัญของความช้า คือ ความช้าที่มีประสิทธิภาพ ไม่ได้ทำอะไรช้า แต่เป็นการใส่ใจรายละเอียดของชีวิตให้มากขึ้น”

 

=====================================

 

     “การอยู่อย่างนี้ทำให้คลื่นสมองช้าลง มีงานวิจัยพบว่าคลื่นสมองที่ช้าลงมีประโยชน์ ปัจจุบันนี้ เวลาเราตื่นนอนคลื่นสมองส่วนใหญ่จะเร็วมากเลย เรียกว่า คลื่นเบต้า เป็นคลื่นที่มีความถี่สูงแสดงจิตสำนึกว่าเราตื่น จิตที่ตื่นเป็นการทำงานของสมองเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ถ้าเราอยากให้สมองทำงานได้ดี ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตมากขึ้น เราต้องใช้

90 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือ ซึ่งจะได้จากการที่เราทำให้คลื่นสมองเราช้าลง อยู่กับความเป็นตัวเองให้มากขึ้น นั่นเป็นรายละเอียด ซี่งสุดแท้แต่บริบทของแต่ละคน อยู่ที่ใจเราก่อน พอเรากลับมาที่ใจได้ เราจะเห็นบริบทของเราชัดขึ้น

 

     จะทำอะไรนั่นเป็นรายละเอียด แต่ไม่ใช่ไปบอกว่าไม่ใช้รถยนต์ จะต้องใช้ชีวิตอย่างนั้นอย่างนี้ เรากลับมาอยู่ที่ตัวเองก่อน ร่างกายของเราช้าลงได้ บริบทของชีวิตเราก็ช้าลงได้เอง อยู่ข้างในเราเป็นแก่น ส่วนวิธีการแต่ละคนไม่เหมือนกัน  slow living ของคนที่อยู่กรุงเทพฯ กับคนที่อยู่จังหวัดเชียงราย ย่อมไม่เหมือนกัน ถ้ามีแก่นเราก็ปรับใช้ได้ในความเป็นตัวเรา”

 

=====================================

 

ทำอย่างไรให้ชีวิตช้าลง

  1. หายใจให้ช้าลง โดยอยู่กับลมหายใจให้เต็มทั้งเข้าและออก พยายามไม่ให้มีจุดบอดในลมหายใจ ภาวนาอย่างมีสติ
  2. ขยายปัจจุบันขณะให้กว้างขึ้น (Expanding the now)อยู่กับปัจจุบัน ถ้าเราขยายอีกนิด สังเกตให้มากขึ้นอีก
    2-3 วินาที ช่วงเวลาจะขยาย เราก็เพียงดำรงอยู่กับเวลาขณะนั้น
  3. ค่อยๆ ใส่ความผ่อนคลายในบางพื้นที่ของชีวิต การใช้ชีวิตด้วยความผ่อนคลายจะทำให้มีความสุข หลังจากได้เคล็ดลับในการใช้ชีวิตแบบแช่มช้า (Slow living) ฉันก็คิดว่า ต่อจากนี้ไปจะออกแบบการใช้ชีวิตด้วยตัวเอง

 

ช้าลงอีกนิด ใกล้ชิดธรรมชาติ

     เช้าวันแรกที่เริ่มต้นใช้ชีวิตแบบแช่มช้า ฉันตื่นขึ้นมาพร้อมกับใจที่มีสติ และทำสิ่งต่างๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป นับจากการล้างหน้าแปรงฟัน เดินไปใส่บาตรที่หน้าปากซอย แล้วกลับมารดน้ำต้นไม้ ตามปกติฉันจะรีบรดน้ำต้นไม้ให้เร็วไว ด้วยความคิดที่ว่า “ต้นไม้จะได้ไม่เหี่ยวเฉาตาย” แต่วันนี้ฉันรดด้วยความรู้สึก “ชื่นชมความงามตามธรรมชาติ” ต้นไม้ ใบหญ้า และดอกไม้ที่ปลูกไว้ค่อยเติบโตขึ้น แลดูมีชีวิตชีวากว่าที่เคย ได้ยินเสียงนกร้องไพเราะ และดังกว่าทุกวัน

 

     ครั้นสูดลมหายใจเข้าเต็มปอด ก็ได้กลิ่นดินผสมกับหญ้าอ่อนหอมแปลก และมีลมเอื่อยๆ ลอยมาปะทะใบหน้า รู้สึกสดชื่นอย่างบอกไม่ถูก ไม่เคยคิดว่ายามเช้าจะเต็มไปด้วยพลังความสุขมากมาย จนทำให้อยากก้าวออกจากบ้าน และอยากยิ้มทักทายผู้คนข้อดี : มีโอกาสสัมผัสสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว ทำให้รู้จักชีวิตของตัวเองมากขึ้น และเรียนรู้ที่จะเก็บเกี่ยวความสุขจากสิ่งใกล้ตัว เริ่มต้นวันใหม่อย่างมีพลัง

 

ทำอาหารกินเอง ใส่ใจกับการกินสำหรับอาหารการกิน

     ฉันจะไม่กินอาหารจานด่วน และแต่ละมื้อฉันจะเคี้ยวอาหารอย่างช้าๆ เพื่อดื่มด่ำกับสิ่งที่กินเข้าไป เพราะได้แง่คิดจากบทความ “จังหวะชีวิตช้าลง ความเจ็บป่วยก็บรรเทา”ในคอลัมน์ไม้เกาหลัง ของกาแฟดำว่า... “พวกกินอาหาร “แดกด่วน” ก็ต้องคี้ยวด่วนและรีบกลืนอาหารลงไป เท่ากับว่าเราไม่ได้ใช้ฟันซึ่งเป็นอวัยวะส่วนที่แข็งแกร่งที่สุดในร่างกาย เพื่อการเคี้ยว แต่กลับไปใช้กระเพาะรวมไปถึงตับไตไส้พุงต่าง ๆ ต้องทำงานหนักกว่าที่ควรจะทำ”

 

     นอกจากนี้ฉันยังทำอาหารกินเอง เพราะสามารถเลือกวัตถุดิบที่ชอบ และมีคุณภาพเองได้ ส่วนเมนูก็จะเลือกที่ทำได้ง่าย ๆ มื้อเช้าเป็นผัดผัก หรือแกงจืด ทำปริมาณให้มากเผื่อสำหรับมื้อกลางวัน และมื้อเย็นก็เป็นเมนูง่ายๆ เช่น ยำปลาทูน่า สลัดผักข้อดี : มีความสุขกับการเตรียมอาหาร อาหารมีคุณภาพ และการเคี้ยวช้า ๆ ทำให้รู้จักรสชาติยิ่งขึ้น นอกจากนี้ระบบย่อยอาหารยังทำงานได้ดีอีกด้วย

 

ไม่ต้องรีบก็ถึงทันเวลา

     “คนที่ทำงานในกรุงเทพฯเป็นชีวิตที่เร่งรีบตลอด บอกไม่มีเวลา ก็ลองตื่นเร็วขึ้นอีก 5 นาที เพื่อไม่พยายามทำอะไรมากเกินไปจากนั้นลองขับรถให้สบายขึ้น อยู่กับปัจจุบันให้มากขึ้น เราก็ยังใช้เวลาเท่าเดิม แทนที่จะห่วงว่าจะไปทำงานสาย ในความรีบเร่งเราอาจไปไม่ตรงเวลาทุกครั้ง มีความเสียหายเกิดขึ้นอยู่แล้ว ถ้าลองทำอีกแบบ ยอมให้ตัวเองไปสายได้บ้าง กลายเป็นว่าเราไปสายน้อยกว่าเดิม”ข้อดี : ไม่ก่อให้เกิดความเครียด และไม่เหนื่อยล้าจากการเดินทาง มีพลังเหลือเฟือในการทำสิ่งต่าง ๆ ที่รออยู่ปลายทาง

 

ไม่ต้องเร่งงานก็เสร็จ

     “ในความจริงความช้ามีประโยชน์ บางครั้งความเร็วก็ไม่มีประโยชน์ และอาจทำให้เกิดความเสียหายได้ งานบางงานที่เรารีบทำ เร่งเกินไปอาจต้องกลับมาแก้ สู้เราค่อย ๆ ทำให้เรียบร้อยทีเดียว แล้วมีประสิทธิภาพดีกว่า”วิธีการทำงานที่ช้าแบบมีประสิทธิภาพที่นายแพทย์วิธานแนะนำ คือ... 

  1. ทำให้คลื่นสมองช้าลง (ทำให้สมองมีคลื่นชนิดอื่นมากขึ้น เช่น เดลต้า แอลฟ่า เธต้า ซึ่งมนุษย์ทุกคนมี) ผ่อนคลาย และจินตนาการให้มากขึ้น โดยการนั่งหลับตา ผ่อนคลายลิ้น ผ่อนวางขากรรไกรล่างลง แล้วลองจินตนาการนึกถึงดอกไม้อะไรสักอย่าง แค่นี้คลื่นสมองเราจะช้าลง รู้สึกเบาสบาย และสามารถคิดสร้างสรรค์งานได้ดี
  2. ไม่รอบคอบแบบคิดมาก เพราะจะทำให้ช้าแบบย้ำคิดย้ำทำ ซึ่งคลื่นสมองไม่ได้ช้าลง ยิ่งช้าอย่างไม่มีประสิทธิภาพ
  3. ฝึกตัวเองให้ไว้วางใจความไม่เร่งรีบ ไม่กังวลในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น อย่าคิดไปเองว่าไม่ทันเวลา ดำรงอยู่กับปัจจุบันด้วยความผ่อนคลาย และเราไว้วางใจจริง ๆ งานจะเสร็จลุล่วงด้วยดี แต่ไม่ใช่ลอยชายแล้วไม่รับผิดชอบ
  4. รู้จักความเครียดด้วยสติ ความเครียดเป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้ แต่เราต้องมองเห็นมัน ตื่นรู้อยู่ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น เราก็จะผ่อนคลายเอง ข้อดี : งานมีคุณภาพ มีความสร้างสรรค์ และเสร็จตรงเวลา

 

สวมใส่แบบเรียบง่าย

     คุณนิรมล เมธีสุวกุล พูดในหัวข้อเสวนา “ใช้ชีวิตเรียบง่าย ลงทุนน้อย กำไรงาม” ทำให้ได้แง่คิดดี ๆ เกี่ยวกับความเรียบง่าย ที่สามารถนำมาปรับใช้ในการสวมใส่เสื้อผ้าได้ “ถ้าเมื่อไหร่ที่เราต้องการความเรียบง่าย เราอาจจะต้องใช้หัวใจ เวลา และความพยายาม เพื่อต้านกระแสหลักด้วยนะ อยากจะใส่เสื้อยืดสักตัว แต่ก็มีให้เลือกสารพัดลวดลาย ก็ต้องใช้ความตั้งใจที่จะเลือกเสื้อผ้าแบบเรียบง่าย แต่นกคิดว่าตอนนี้กระแสหลักทำให้ทุกคนคิดว่า ต้องใช้ชีวิตอย่างง่าย ๆ เพราะเวลาไม่มี กลายเป็นว่าทุกอย่างต้องเป็นสำเร็จรูป แล้วกว่าจะมาถึงเราก็ซับซ้อนอย่างมากเลยค่ะ”

 

     ฉันจึงเริ่มหันมาใส่เสื้อยืดในแบบที่เรียบง่ายมากขึ้น และเลือกซื้อเสื้อผ้าฝ้ายกับกางเกงผ้าที่สวมใส่สบาย ทำให้ฉันรู้สึกถึงการใช้ชีวิตเรียบง่าย และมีความเป็นธรรมชาติในตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องปรุงแต่งมากนักข้อดี : การสวมใสเสื้อผ้าแบบนี้บ้างแม้บางครั้งจะทำให้เราได้สัมผัสกับวัสดุที่ทำจากธรรมชาติ รู้จักการปล่อยวาง และกลมกลืนกับธรรมชาติ และการสวมใส่เสื้อยืดที่ไม่ต้องรีด ก็เป็นการไม่สิ้นเปลื้องพลังงานไฟฟ้าอีกด้วย

 

ท่องเที่ยวซึมซับธรรมชาติ

     การท่องเที่ยวในแบบ Slow living หรือที่เรียกว่า Slow travel มีหลักการง่าย ๆ คือ...

  1. เดินทางแบบไม่รีบร้อน เช่น ขับรถยนต์ นั่งรถไฟ หรือปั่นจักรยานแทนการนั่งเครื่องบิน
  2. ทำอาหารกินเอง
  3. ซื้อของจากร้านโชว์ห่วย
  4. พบปะพูดคุยกับคนท้องถิ่น และเรียนรู้วิถีชีวิตวัฒนธรรมท้องถิ่น ข้อดี : การท่องเที่ยวแบบนี้จะทำให้เราทำอะไรช้าลง และได้เปิดโลกทัศน์ใหม่จากชุมชนที่ได้เข้าไปสัมผัส

 

 

 

 

Credit : นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 233

 2191
ผู้เข้าชม

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์